PAL festival (Phusang Active Learning) เทศกาลแห่งการเรียนรู้ปีที่ 4
กิจกรรม PAL festival (Phusang Active Learning) เทศกาลแห่งการเรียนรู้ปีที่ 4

Pal Fest เทศกาลอาหารปลอดภัย สืบสานวัฒนธรรมไทลื้อ สร้างการเรียนรู้ในเยาวชน ณ ข่วงลื้อน้อย บ้านหนองเลา อ.ภูซาง จ.พะเยา วันที่ 25 มกราคม 2568 Pal Fest หรือ Phusang Active Learning Festival Ep.4 จัดขึ้นเป็นปีที่ 4 ของพื้นที่ โดยในปีนี้ ได้มีการจัดกิจกรรมที่ยังคงไว้ซึ่งการอนุรักษ์และสืบสานเอกลักษณ์ท้องถิ่น หรือความเป็นชาติพันธุ์ไทลื้อ ที่ได้เชื่อมโยงผู้คนหลายหมู่บ้านในการหลอมรวมเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็ง ผ่านวิถีชีวิตที่มีเสน่ห์ โดยเฉพาะภาษาไทลื้อ และอาหารที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ รวมถึงการแสดงฟ้อนเซิ้งกลองยาวอันเป็นที่เชิดหน้าชูตาของอำเภอภูซางและจังหวัดพะเยา ซึ่งกิจกรรมนี้ได้จัดบนพื้นที่ที่เชื่อมโยงผู้คนให้ได้มีปฏิสัมพันธ์และสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชนได้เป็นอย่างดี เป้าหมายหลักของกิจกรรมในครั้งนี้ คือการสร้างการเรียนรู้ในเยาวชนที่ให้ความสนใจในการสืบสานเอกลักษณ์เฉพาะของอำเภอภูซาง ผ่านหลักการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ผลักดันการสร้างคุณค่าในผู้สูงวัยผ่านฐานการเรียนรู้คือ (1) การถักทอผ้าฝ้ายไทลื้อ ที่ถูกถ่ายทอดโดยผู้สูงอายุในชุมชน (2) การนำเสนออาหารท้องถิ่นด้วยวัตถุดิบพื้นบ้าน ปลอดภัยไร้สารและดีต่อสุขภาพ ที่นำเสนอโดยชาวบ้านในชุมชนหลายช่วงวัย และกิจกรรมที่เป็นไฮไลท์ของงาน นั่นก็คือ (3) กิจกรรมการแข่งขันทำลาบเหนือ โดยเยาวชนในพื้นที่ ซึ่งก็ได้มีการมอบรางวัลเพื่อเสริมกำลังใจให้เยาวชนในการพัฒนาทักษะการกล้าแสดงออก อีกทั้งในกิจกรรมปีที่ 4 นี้ ยังคงไว้ซึ่งคอนเซปต์ ’นิเวศน์ชุมชน‘ นั่นคือการร่วมมือกันของภาคีเครือข่ายในการเชื่อมโยงมิติวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพื้นที่สู่การจัดการชุมชนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมของชาวบ้านและเยาวชนให้กล้าแสดงออกในการ ‘ปล่อยของ’ สื่อสารความสามารถ และเป็นพลังสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนของชุมชนต่อไป การจัดเทศกาลในครั้งนี้ยังได้มีการคำนึงถึงหลักความปลอดภัยของอาหารท้องถิ่นที่ถูกรังสรรค์โดยชาวบ้านในท้องที่ชุมชนบ้านหนองเลา เป็นเมนูขึ้นชื่อจากวัตถุดิบพื้นบ้าน ประกอบอาหารโดยผักสวนครัวริมรั้ว ปลอดสารเคมี จากการสอบถามผู้สูงอายุในพื้นที่กิจกรรม พบว่าชาวบ้านมักจะประกอบอาชีพค้าขายผักสวนครัวและทำเกษตรกรรมในการปลูกถั่วลิสงอันเป็นพืชผลหลักในชุมชนที่สามารถนำไปพัฒนาเพิ่มมูลค่าเป็นน้ำนมถั่วลิสงได้ อีกทั้งยังมีการปลูกหัวหอม และข้าว โดยในแต่ละฤดูกาลจะมีพืชผักสวนครัวที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งชาวบ้านยังสามารถนำวัตถุดิบที่ได้ไปแปรรูปเป็นอาหารที่เพิ่มมูลค่าได้ยิ่งขึ้น เช่น ถั่วลายเสือเทมเป้ น้ำพริกผัก ที่ทำจากผักพื้นบ้าน โดยคัดเฉพาะยอดอ่อนของผักที่ไม่มีรสหวาน นำมาหมักกับเกลือ และบีบคั้นเฉพาะน้ำ ออกมาเป็นเมนูอาหารท้องถิ่นที่ดีต่อสุขภาพและสร้างรายได้ให้ชาวบ้านในชุมชนได้อีกด้วย ภายในงานยังมีการนำเสนออาหารอีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจอย่างขนมไทยลื้อ ที่ยังคงมีเอกลักษณ์เฉพาะที่เชื่อมโยงเข้ากับการเป็นขนมแห่งความมงคล โดยจะทำเฉพาะในงานกิจกรรมมงคลเช่น งานรื่นเริง งานแต่งงาน การจัดเทศกาลรวมตัวกันของคนในชุมชนเช่นกิจกรรมนี้เป็นต้น นอกจากนี้ยังกลุ่มเครือข่ายที่นำเสนออาหารภาคใต้อย่างข้าวยำปักษ์ใต้ มาให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ชิม และร่วมรับประทานอาหารที่นำเสนอโดยท้องถิ่นในโต๊ะเดียวกัน ช่วงเย็นก่อนจบกิจกรรมยังมีการนำเสนอ ’ฟ้อนเซิ้งกลองยาว‘ ที่ฝึกซ้อมและทำการแสดงโดยชาวบ้านในชุมชน ถ่ายทอดอย่างงดงามอันเป็นนเอกลักษณ์เฉพาะของชุมชน ผ่านเครื่องแต่งกายที่โดดเด่นด้วยผ้าฝ้ายทอลายไทลื้อ และยังมีการขับร้องซอคำเมืองโดยช่างซอมากความสามารถ ที่เติมเต็มให้พื้นที่แห่งนี้เต็มไปด้วยความอบอุ่น เสียงหัวเราะ และความสนุกสนานของคนในพื้นที่และภาคีเครือข่ายทุกคน ชุมชนภูซาง หนึ่งในชุมชนทางตอนเหนือของจังหวัดพะเยา มีพื้นที่ติดกับจังหวัดเชียงราย จังหวัดน่าน และประเทศลาว มีบริบทพื้นที่ที่ผสานวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่มีความต้องการในการสร้างความเข้มแข็งในชุมชน เปิดรับการเรียนรู้ของผู้คนในชุมชนทุกช่วงวัย ให้สามารถสร้างคุณค่าในตัวเอง และเปิดพื้นที่ให้ได้มีการถ่ายทอดวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความสามารถของคนในชุมชน โดยอีกประการที่สำคัญคือการทำให้ภูซางเป็นบ้านที่พร้อมโอบรับเยาวชนทุกคน สู่การพัฒนาอำเภอภูซางให้เป็นชุมชนที่น่าอยู่สำหรับทุกคนต่อไป นอกจากนี้ในวงเสวนาช่วงท้ายจากภาคีเครือข่าย อาสาสมัคร และหน่วยงานรัฐที่ให้การสนับสนุน เห็นตรงกันว่าจะมีความพยายามให้พื้นที่และการจัดกิจกรรมลักษณะนี้ ได้รับการประชาสัมพันธ์ ได้มีการสนับสนุน และทำให้ดียิ่งขึ้นไปในทุกปีต่อจากนี้ สานต่อแนวคิดของการเปิดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการเรียนรู้ของทุกคนในชุมชน ทำให้เกิดความเข้มแข็งรวมถึงก่อให้เกิดความสามัคคีในชุมชน ที่จะนำไปสู่ภาคท้องถิ่นที่สามารถก้าวข้ามอุสรรคและเกิดการพัฒนาในมิติอื่น ๆ ของชุมชนได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

วัน เวลา
January 25th 2568, 9:00 am
ประเด็นการทำงานที่เกี่ยวข้อง
ความมั่นคงทางอาหารกิจกรรมทางกายศิลปวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์การศึกษา
สถานที่จัดกิจกรรม

ข่วงลื้อน้อย https://maps.app.goo.gl/wU73Umxex4WdXfa68?g_st=ic

ผู้จัดกิจกรรม

ละอ่อน Home

ชื่อผู้ประสานงานกิจกรรม

กัญธิมา มงคลดี

เว๊ปไซต์ หรือ เฟสบุ๊คแฟนเพจ
รูปตัวอย่างกิจกรรมกลุ่มองค์กร

สงวนลิขสิทธิ์ 2021 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)